พระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคการเมือง ของ คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ในขณะนั้น พร้อมคณะตุลาการศาลปกครอง และข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง จำนวน 20 คน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเสื้อครุยตุลาการศาลปกครอง เนื่องในโอกาสการจัดงาน พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในโอกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสกับคณะผู้เข้าเฝ้าฯ มีใจความสำคัญว่าการพิพากษาคดีนี้เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็จะเกิดความเดือดร้อนทั้งนั้น แต่ผู้พิพากษาก็มีหน้าที่ที่จะวิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าว และมี "ความรับผิดชอบที่จะทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม" [5][6][7]

ท่าทีของบุคคลสำคัญหลังพระราชดำรัส

จากพระราชดำรัสครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายออกมาน้อมรับ และเชื่อว่าน่าจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายดีขึ้น

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรุปได้ 5 ประเด็น [7] คือ

  1. สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทรงเดือดร้อนพระทัย เหมือนกับนำเคราะห์มาให้ท่านอีก
  2. เรื่องที่จะตัดสินกันในอีกไม่กี่วันนี้ เป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบต่อบ้านเมืองเพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายกันไป ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรก็มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่เสมอ
  3. ทางที่ดีที่สุดคือศาลต้องกล้าหาญและสุจริตในการตัดสิน
  4. เมื่อตัดสินแล้วต้องใช้สติปัญญาของทุกคนอธิบายผลที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนทุกระดับได้เข้าใจในผลการตัดสิน
  5. ท่านทรงอวยพรให้ปลอดภัยโชคดี

ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ยอมรับว่าห่วง แต่เท่าที่เตรียมการไว้แล้วไม่น่าจะการมีการชุมนุมใหญ่ เพราะเราได้เตรียมทำความเข้าใจกับประชาชนมาพอสมควร ว่าควรยึดถือคำวินิจฉัยของศาล หากเราไม่ยึดถือศาล ต่อไปจะไม่มีอะไรเป็นหลักยึดในด้านความยุติธรรม อย่างที่เขาพูดกันว่าควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรม" พร้อมกับลดระยะเวลาการเยือนจีนให้สั้นลง เพื่อกลับประเทศไทยในวันที่ 29 พฤษภาคม [7]

นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และรองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การตัดสินคดีจะเป็นไปตามหลักนิติศาสตร์ ส่วนจะมีการยุบพรรคหรือไม่ ต้องดูว่าอัยการฟ้องอย่างไร ขอให้ศาลทำอะไร และข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ สิ่งที่จะสนองพระราชดำรัส คือการกระทำด้วยเหตุด้วยผลตามหลักกฎหมายที่จะต้องสามารถอธิบายหลักกฎหมายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ คำนึงถึงภาวะรอบด้านทุกอย่างให้ครบถ้วน [7]

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า พรรคต้องน้อมรับพระราชดำรัส ใช้เป็นหลักปฏิบัติคือการช่วยกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาเป็นเช่นไร พร้อมจะรับและดำเนินงานทางการเมืองต่อไป โดยยึดหลักสันติวิธีและยึดมั่นตามระบอบรัฐสภา [7]

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยกล่าวว่า สิ่งที่ควรคิดกันคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเดือดร้อน หรือเกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในรูปแบบใดทั้งสิ้น ดังนั้นการเคลื่อนไหวอะไรก็ตามของฝ่ายที่คิดหรือหวังผลที่จะให้เกิดความรุนแรง จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ [7]

แหล่งที่มา

WikiPedia: คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 http://www.baanjomyut.com/library/law/98.html http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/25/WW10_WW10... http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/06/WW10_WW10... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://www.komchadluek.net/2007/05/31/a001_120817....